วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อิทธิพลของครอบครัว

        ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษยชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ของสังคมและประเทศชาติ 
     ครอบครัว หมายถึง องค์กรที่มีขนาดเล็กที่สุดในสังคม ประกอบด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตหรือทางกฎหมาย โดยการสมรสหรือการรับรองบุตรเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ บุตรและญาติพี่น้อง 
     ครอบครัวในสังคมต่าง ๆ ย่อมมีโครงสร้างและลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าจะแบ่งครอบครัวเป็นประเภทใหญ่ๆ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่

1)ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะ ประกอบด้วยบิดา มารดาและบุตรเท่านั้น ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือทั้งทางสายโลหิตและทางกฎหมาย (การรับจดทะเบียนบุตรเป็นบุตรบุญธรรม) ขนาดของครอบครัวขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรที่ถือกำเนิดจากบิดา มารดา ถึงแม้จะมีการรับบุตรบุญธรรมบ้าง ก็มีจำนวนไม่มาก สังคมสมัยใหม่ทั่วไปมักมีครอบครัวประเภทนี้เป็นจำนวนมาก จนมีผู้กล่าวว่าสังคมใดมีความเจริญทางอุตสาหกรรมและการค้า ครอบครัวในสังคมนั้นจะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ 


2)ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมครอบครัวประเภทนี้มีพื้นฐานจากครอบครัวเดิมมาจากครอบครัวเฉพาะ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย บิดา มารดา และบุตร นอกจากนี้ยังมีญาติพี่น้องอื่น ๆ เป็นสมาชิกอาศัยร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา และอาจจะมีหลานร่วมด้วย ครอบครัวขยายจึง มีสมาชิกมากกว่าครอบครัวเฉพาะ นอกจากครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีความแตกต่างกับครอบครัวเดี่ยวหรือ ครอบครัวเฉพาะในเรื่องของสมาชิกแล้ว ความสัมพันธ์และโครงสร้างระหว่างสมาชิกก็มีความแตกต่างกันด้วย ในสมัยก่อนครอบครัวของสังคมไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายหรือ ครอบครัวเสริมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีต เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องอาศัยแรงงานจากครอบครัวในการทำเกษตร แต่ปัจจุบันของคนไทยเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายอาชีพ ทำให้ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีมากขึ้นเช่นกัน แต่ข้อดีของครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมที่ น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะ เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบันสามีภรรยามักออกทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ลูกจ้างที่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กอยู่หาได้ยากหรืออาจได้ลูกจ้างที่ ไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลทำให้บุตรเจริญเติบโตมาด้วยความว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น ถ้ามีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ด้วยแบบครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมก็สามารถ ดูแลให้การอบรมคุณธรรม จริยธรรม ด้วยความรักความเอาใจใส่ ทำให้บุตรเจริญเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติ ซึ่งบิดาและมารดาที่มีภาระหน้าที่พิเศษทางสังคมเป็นจำนวนมากไม่สามารถทำได้ 



     แต่ละครอบครัวทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยวมีสมาชิกอาศัยและปฏิบัติ กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สมาชิกในครอบครัวจึงมีความสัมพันธ์กันในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

1)สามีและภรรยา มีความสัมพันธ์บนพื้นฐานความต้องการทางเพศของมนุษย์ คือ การมีเพศสัมพันธ์ ความรับผิดชอบร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลบุตรหรือผู้สูงอายุในครอบครัว การให้ความช่วยเหลือญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายตามสมควร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การหารายได้สู่ครอบครัว การร่วมกันคิดตัดสินใจในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัวและการให้ความรักความอบอุ่น ทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน  

2)พ่อ แม่ และลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่กับลูกนั้น มีตั้งแต่ลูกเกิด พ่อแม่มีหน้าที่ให้การเลี้ยงดูส่งเสริมการเรียนและส่งเสริมสุขภาพ ส่วนลูกก็มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในสังคมไทย พ่อแม่จะดูแลลูกเมื่อลูกยังเด็ก และเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมาดูแลพ่อแม่อีกที 

3)พี่น้องจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเพราะว่าเติบโตมาด้วยกันอยู่ในครอบ ครัวเดียวกัน มีความรัก ความอบอุ่นร่วมกัน พี่น้องจึงมักให้การช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ

4)เครือญาติเป็นสถานะของครอบครัวที่มีการขยายหรือกระจายกว้างขวางออกไป เช่น ญาติฝ่ายสามี ญาติฝ่ายภรรยาหรือกรณีนามสกุลเดียวกัน ความช่วยเหลือหรือความสัมพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ ความสนิทสนมในการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน หากสนิทกันมากก็จะให้ความช่วยเหลือกันเช่นเดียวกับ พี่น้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น